ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาชั้นมูลและระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ต่อมาบิดาย้ายมาปฏิบัติงานสรรพสามิตที่อำเภอเมืองพะเยา จึงเรียนต่อชั้นประถมที่โรงเรียนบุญนิธิซึ่งตั้งอยู่ริมชายกว๊านพะเยา และชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่อบิดาย้ายกลับเชียงรายจึงเข้าเรียนจนจบชั้นชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้น
ถวัลย์มีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปีทั้งที่เชียงรายและพะเยาแล้ว เมื่อถวัลย์มีอายุ 8-9 ขวบก็มีความคิดแผลงๆ จำเรื่องนายมั่นนายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม เที่ยวชักชวนเพื่อนกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพญาเย็นด้วยกันเมื่อโตขึ้นเป็นต้น
เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย ถวัลย์ก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศาสตราจารย์ ศิลป์พีระศรี"
ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ
การค้นหาและการพบตัวเอง
คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger (ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนี
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูปถูกนักเรียนกรีดทำลาย ด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำใหถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ เขาก็ต้องเดินตากแดดตากฝนนานอยู่ถึง สามสิบกว่าปี ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย ถวัลย์ ดัชนี ได้ฝากศิลปะไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขา ไว้ในหลายๆ ที่ในโลก "ผลงานบางส่วนถูกเขียนขึ้นในปราสาทที่มีถึง 500 ห้อง ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่าปราสาทกอททอฟ (Gottorf Castle) " ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ปราสาทนี้ไม่เปิดให้ใครได้เข้าชมแล้ว เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้มีหยดน้ำมาเกาะบนกำแพง ทำให้ภาพเสียหาย แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้เข้าไปถ่ายทำเป็นรายการสุดท้ายนั่นคือ รายการชีพจรลงเท้า
ยามว่างจากการเขียนรูป ถวัลย์ ดัชนีจะเดินไปในป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลา
ที่มา: วิกิพีเดีย
เคล็ดลับแห่งความเป็นเลิศของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
ความสำเร็จในชีวิตของคนคนหนึ่ง หากพิเคราะห์ให้ดีเราจะพบว่า ไม่ได้เกิดขึ้นมาบนสุญญากาศ หรือมิได้เกิดขึ้นมาจากปาฎิหาริย์ที่เรามองไม่เห็น ตรงกันข้าม ทุกๆความสำเร็จของคนที่มีชื่อเสียงล้วนมีที่มา เช่นเดียวกับที่น้ำทุกหยดย่อมมีต้นน้ำ ความสำเร็จของจิตรกรเอกของไทยและของโลกคนหนึ่งที่ชื่อว่าอาจารย์ “ถวัลย์ ดัชนี” ก็เช่นเดียวกัน
หลายคนมองว่า อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นคนพิเศษเป็นอัจฉริยมนุษย์คนหนึ่งซึ่งเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ทางด้านศิลปะอย่างเอกอุ แต่หากใครได้รู้จักตัวตนของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อย่างแท้จริงก็จะพบว่า เบื้องหลังความสำเร็จของท่านล้วนเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการมีใจรัก บนพื้นฐานของการฝึกฝน บนพื้นฐานของการอุทิศตน และแสวงหาทางออกให้กับตัวเองอย่างชนิดยอมเอาชีวิตลงวางเดิมพัน
จากชีวประวัติของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เราจะพบว่าท่านเริ่มตกหลุมรักการวาดเขียนตั้งแต่ยังเป็นทารกวัยกระเตาะ ดังท่านเล่าว่า เมื่อตอนอายุราวสามหรือสี่ขวบได้ติดตามคุณแม่ไปทำบุญที่วัดมุงเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ขณะที่คุณแม่นั่งสนทนาธรรมอยู่กับหลวงตาเจ้าอาวาส เจ้าลูกชายตัวน้อยเล่นอยู่ข้างนอก ก็ได้แอบแสดงนิทรรศการภาพวาดเดี่ยวเป็นครั้งแรกในชีวิตบนผนังกำแพงวัด โดยใช้ถ่านวาดเขียนแทนพู่กัน เจ้าหนูระบายสีบนผนังกำแพงวัดเสียลายพร้อยวิจิตรบรรจง เมื่อคุณแม่กลับออกมาพบเข้าก็ร้องดุลูกชายลั่นลานวัด แต่หลวงตาบอกว่า อย่าดุเจ้าหนูมันเลย เลี้ยงให้ดีๆ เด็กคนนี้โตขึ้นมาอาจเป็นจิตรกรเอกของโลกก็เป็นได้
“แวว” ของคนมักขึ้นอยู่กับ “แววตา” อย่างนี้เสมอ แววตาของหลวงตาคมยิ่งกว่าตาเหยี่ยว เพราะหลังจากนั้นมาจนบัดนี้ เจ้าหนูคนนั้นได้ตระเวนแสดงนิทรรศการศิลปะของตนเองไปทั่วทุกมุมโลก ฝรั่งบอกว่า Practice Makes Perfect การหมั่นฝึกฝนทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์นั้นเป็นความจริงอย่างยิ่ง
บนเส้นทางของการฝึกตนนั้น แน่นอนว่าต้องการความทุ่มเทและอุทิศตนอย่างเอกอุ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ในวัย 65 ปีเคยเล่าว่า แม้แต่ยามอยู่เฉยๆตัวเองก็ยังฝึกขว้างมีดขว้างขวานอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อฝึกความเที่ยงตรงของฝีมือเพื่อฝึกความคมชัดของการตวัดเส้นสายปลายพู่กันให้มีความเที่ยง ความเฉียบคม เหมือนเมื่อตอนที่ยังมีกำลังวังชาเต็มที่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ จากคำบอกเล่านี้เราจะพบว่า แม้อาจารย์ถวัลย์จะได้ชื่อว่าเป็นครูของครู หรือเป็นศิลปินระดับโลกแล้วก็ตามที แต่ถึงกระนั้นท่านก็ไม่เคยว่างเว้นจากการอุทิศตนฝึกฝนฝีมืออยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติ 3 ประการนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำให้อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี โดดเด่นออกมาจากศิลปินไทยคนอื่นๆ แต่ “ความคิดสร้างสรรค์” ต่างหากคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จอันโดดเด่นถึงที่สุด ทุกวันนี้ในวงการศิลปะไม่ว่าเวทีไทยหรือเวทีโลก หากเอ่ยชื่อ “ถวัลย์ ดัชนี” ขึ้นมา เราจะพบว่ามีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักคนคนนี้ เคล็ดลับแห่งความเป็นเลิศของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี หากมองผ่านมุมมองของธรรมะเราสามารถสรุปผ่านหลักการที่เรียกกันว่า “อิทธิบาท4” (มรรควิธีสู่ความสำเร็จ) ซึ่งประกอบด้วย
1. มีใจรัก
2. พากเพียรทำ
3. อุทิศตน
4. ฝึกฝนให้แตกต่าง
ไม่ว่าใคร สังกัดอาชีพไหน หากมีคุณธรรมทั้ง 4 นี้ครบบริบูรณ์ ก็สามารถครอบครองความสำเร็จในสาขาอาชีพตนได้ทั้งนั้น
ที่มา: ขอขอบคุณ
เคล็ดลับแห่งความเป็นเลิศ
ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
จากหนังสือธรรมาค้าขึ้น ของท่าน ว. วชิรเมธี
0 comments:
Post a Comment